วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ยอดพระเครื่องเมืองพิจิตร


ยอดพระเครื่องเมืองพิจิตร

จังหวัดพิจิตร นอกจากจะมี พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง และพระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่แสวงหาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ด้วยพุทธคุณปรากฏเป็นเลิศแล้ว ยังมีพระกรุเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอีกมากมาย เนื่องจากเป็นเมืองที่เก่าแก่มาก

ตามตำนานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระยาโคตรบองเทวราช เมื่อประมาณปี พ.ศ.1601 โดยย้ายจากนครไชยบวร (ปัจจุบันคือ อ.โพทะเล) มาอยู่ริมแม่น้ำน่าน และสืบเชื้อสายปกครองมาถึง 200 ปี และยังปรากฏหลักฐานว่ามีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ครั้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรีขึ้นอยู่กับพิษณุโลก และได้ชื่อตามภูมิประเทศว่า "โอฆะบุรี" ซึ่งเป็นภาษาบาลีแปลว่าห้วงน้ำ ต่อมาเกิดวิกฤตแม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดิน ทำให้ท้องน้ำบริเวณเมืองเก่าตื้นเขินขึ้น ชาวเมืองขาดแคลนน้ำ หลวงธรเณนทร์ เจ้าเมืองพิจิตรขณะนั้น จึงให้ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านปากทาง (ปัจจุบันคือ ต.ปากทาง อ.เมือง) และมีการย้ายเมืองอีกครั้งไปที่บ้านท่าหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อมีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ.2326 เมืองพิจิตรก็ได้รวมอยู่ในมณฑลพิษณุโลก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "จังหวัดพิจิตร" ตั้งแต่นั้นมา

พิจิตรได้ชื่อว่าเป็น "เมืองนักรบ" ในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองพิจิตรจัดเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ดังนั้น พระเครื่องของจังหวัดพิจิตรจึงจัดเป็นพระที่มีพุทธคุณเข้มขลังด้านคงกระพัน ชาตรีโดยตรง แม้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังอาราธนาพระเครื่องเมืองพิจิตรติดพระองค์เวลาออก ศึกตลอด โดยนำมาไว้ที่พระมาลา ตามหลักฐานที่ปรากฏใน "ลิลิตตะเลงพ่าย"

พระเครื่องในสมัยก่อน นิยมเรียกชื่อตามจังหวัดที่ค้นพบ เช่น "พระกำแพง" ขุดค้นพบจากกรุในจังหวัดกำแพงเพชร "พระผงสุพรรณ" ค้นพบที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น สำหรับจังหวัดพิจิตรก็เช่นเดียวกัน มักเรียกชื่อต้นของพระเครื่องที่ขุดค้นพบว่า "พระพิจิตร" ซึ่งเอกลักษณ์สำคัญของพระพิจิตรอยู่ที่พิมพ์ทรงที่มีขนาดเล็ก เรียกได้ว่าประมาณ 80% ทีเดียว ที่เล็กจนถ้าทำหล่นอาจจะหาไม่พบ แต่ด้านพุทธคุณนั้นล้ำเลิศมาก เฉกเช่นวลีที่ว่า "เล็กพริกขี้หนู

พระพิจิตร

ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายกรุหลายพิมพ์ กรุที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดและหายากมากมี 2 กรุ คือกรุวัดนาคกลางและกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย มีขนาดเล็กมาก กว้างประมาณ 0.5 ซ.ม. สูงประมาณ 0.6 ซ.ม. เป็นพระเนื้อชินเงินที่มีผิวละเอียดและสีดำสนิท พิมพ์ทรงห้าเหลี่ยม พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย (ปางสมาธิมีบ้าง แต่น้อยมาก) มีขอบซุ้มโดยรอบ พิมพ์ด้านหลังมีทั้งหลังตันและหลังลายผ้า องค์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏผิวปรอทให้เห็นชัดเจน

พระพิจิตร กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีการค้นพบพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมากมายหลายพิมพ์ อาทิ พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า พระพิจิตรหน้าวัง พระพิจิตรพิมพ์นาคปรก พระพิจิตรผงดำ เป็นต้น แต่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสูงสุดคือ "พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า

พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า มีขนาดเล็กมากๆ ความกว้างขององค์พระประมาณ 0.6 ซ.ม.เท่านั้น เป็นพระเครื่องเนื้อชินเงิน บางองค์แก่ตะกั่ว ตามความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่าพระพิจิตรเม็ดข้าวเม่ามีส่วนผสมของ "เหล็กน้ำพี้" เหล็กน้ำดีที่สุดของเมืองพิจิตร เป็นเหล็กที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว พิมพ์ทรงเป็นรูปกลมรีคล้ายรูปไข่ และเนื่องจากมีขนาดที่เล็กมากดูเหมือนเม็ดข้าวเม่าจึงนำมาเรียกชื่อพิมพ์ พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงสมาธิ เหนืออาสนะฐานหมอน แบ่งย่อยออกเป็นหลายพิมพ์ พิมพ์ที่ถือว่าเป็นพิมพ์นิยมคือ "พิมพ์แขนกลม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น