วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

พระปิดตามหาอุตม์


พระปิดตามหาอุตม์ หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดนครปฐมนั้น มีพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมายหลายองค์ ในวันนี้ผมจะคุยถึงพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่ง คือพระครูไพศาลธรรมวาที พอบอกอย่างนี้หลายท่านอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่า หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด ก็ร้องอ๋อจริงไหมครับ หลวงพ่อห้อย ท่านสร้าง พระเครื่องวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ล้วนมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย พระเครื่องของท่านพุทธคุณยอดเยี่ยมทางด้านมหาอุดและแคล้วคลาด


พระครูไพศาลธรรมวาที หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม หลวงพ่อห้อยท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2415 โยมบิดาชื่อ มั่ง โยมมารดาชื่อ เมือง ท่านอุปสมบทในปีพ.ศ. 2435 โดยมีพระครูปุริมานุรักษ์ วัดสุขประดิษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อรุ่ง วัดหอมเกร็ด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อแจ่ม วัดทรงคนอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ปุญญัสสะ" หลวงพ่อห้อยท่านได้เรียนวิทยาการต่างๆ จากพระอาจารย์ทั้งสามองค์นี้ นอกจากนี้หลวงพ่อห้อยท่านยังได้เรียนกับสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ตอนที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกษาจารย์อีกด้วย หลังจากที่หลวงพ่อห้อยบวชได้ประมาณ 3 พรรษา หลวงพ่อรุ่งเจ้าอาวาสวัดหอมเกร็ดก็มรณภาพลง วัดหอมเกร็ดจึงว่างเจ้าอาวาส คณะศิษย์และมัคนายกวัดได้นิมนต์หลวงพ่อห้อยผู้เป็นศิษย์เป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดหอมเกร็ด และก็ได้เป็นเจ้าอาวาส วัดหอมเกร็ด วัดหอมเกร็ดนั้นแต่เดิมชื่อว่า "วัดหอมกรุ่น" ต่อมาหลวงพ่อห้อยท่านได้พิจารณาเห็นว่าวัดหอมกรุ่นอยู่ไกลแหล่งน้ำ การคมนาคมไม่สะดวก และสภาพวัดทรุดโทรมมาก จึงปรึกษามัคนายกวัด ในที่สุดได้ย้ายวัดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ 500 เมตร

หลังจากที่ได้ย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำแล้ว หลวงพ่อห้อยท่านก็ได้เริ่มสร้างพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ท่านได้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ท่านสนใจในเรื่องการศึกษาของเด็กชาวบ้านในแถบนั้นในปีพ.ศ. 2462 จึงได้ให้เปิดศาลาการเปรียญทำการสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ โดยมีนายเทพ นาคนาเกร็ด เป็นครูใหญ่คนแรก และต่อมาในปี พ.ศ. 2465 จึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้น เป็นโรงเรียนชื่อว่า "ห้อยศึกษาลัย" จากผลงานและความสามารถของหลวงพ่อท่านจึงได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูไพศาลธรรม วาที ต่อมาในปีพ.ศ. 2481 หลวงพ่อห้อยท่านก็ได้ขยายโรงเรียนขึ้นโดยการร่วมมือกับชาวบ้านและทางการจนเป็นโรงเรียนมาตรฐานชื่อว่า "โรงเรียนไพศาลประชานุกูล" หลวงพ่อห้อยท่านมรณภาพลงในปีพ.ศ. 2483 สิริอายุได้ 68 ปี พรรษาที่ 48

1 ความคิดเห็น: